ที่ปรึกษาด้านการเงินและภาษี

คุณ อภิรัฐ ขาวสะอาด Tel 081-4616665 E-mail : apirathkh@gmail.com

ภาษีมรดก เรื่องทรัพย์ๆ ที่ผู้รับต้องรู้


หลังจากการประกาศใช้ พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา คงทำให้หลายคนคุ้นหูกับคำว่า ภาษีมรดก กันมากขึ้น ข้อกำหนดดังกล่าวนี้จะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วันข้างหน้านับจากวันที่ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา หรือประมาณวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 นั่นเอง และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับกฎหมายนี้ เรามาทำความรู้จักกับเรื่องราวของ ภาษีมรดก กันดีกว่า!

1

1. ภาษีมรดก คืออะไร?

ภาษีมรดกเป็นภาษีที่เรียกเก็บเมื่อมีการโอนทรัพย์สินจากพ่อแม่ คนในครอบครัว หรือจากทายาทหรือผู้รับมรดก การคำนวณภาษีนั้น จะคำนวณจากทรัพย์สินในกองมรดกทั้งหมดที่ผู้รับมรดกได้รับ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทได้แก่
  • ภาษีกองมรดก เป็นภาษีที่คิดคำนวณจากทรัพย์สินทั้งหมดของผู้เสียชีวิต ก่อนการแบ่งมรดกให้แก่ทายาท โดยจะเรียกเก็บภาษีตามมูลค่ามรดก ซึ่งหมายความว่าเมื่อทายาทนำมรดกไปแบ่งสันปันส่วนกัน อาจทำให้ผู้ที่ได้รับมรดกน้อย ต้องเสียภาษีเท่ากับผู้ที่ได้รับมรดกมากกว่านั่นเอง
  • ภาษีการรับมรดก เป็นภาษีที่เรียกเก็บภายหลังการแบ่งมรดก โดยจะเรียกเก็บตามอัตราส่วนของมรดกที่ได้รับ ในแต่ละลำดับชั้นของสิทธิ์ในการรับมรดก ซึ่งหมายความว่าเมื่อมีการแบ่งมรดกออกเป็นส่วนๆ ให้แก่ทายาทแล้ว จะมีโอกาสเสียภาษีมรดกน้อยกว่า เนื่องจากการเรียกเก็บ ภาษีมรดก นั้นจะมีขึ้นต่ำในการจัดเก็บ ซึ่งหากจำนวนมรดกที่ได้รับไม่ถึงเกณฑ์ ก็ไม่ต้องเสียภาษีมรดกนั่นเอง
2

2. ภาษีมรดกเรียกเก็บจากใคร?

ภาษีมรดกจะเรียกเก็บจากผู้รับมรดกที่มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลก็ตาม หรือแม้ว่าจะไม่ได้สัญชาติไทย แต่ได้รับมรดกเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ก็จัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่ต้องเสียภาษีเช่นกัน

3. ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดก

ทรัพย์สินที่ต้องมีการเสียภาษีมรดกนั้น มีด้วยกัน 5 ประเภท ได้แก่
  1. อสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านและที่ดิน
  2. เงินฝาก ธนาคาร
  3. หลักทรัพย์ตามกฎหมาย เช่น หุ้นและหุ้นกู้
  4. ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน เช่น รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์
  5. ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา
3

4. อัตราการเรียกเก็บภาษีมรดก

การเรียกเก็บภาษีมรดกนั้น ทางผู้รับมรดกจะต้องจ่ายเงินภาษีในส่วนนี้ก็ต่อเมื่อ ทรัพย์สินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน หุ้น เงินฝากในธนาคาร ฯลฯ นำมาประเมินรวมกันแล้ว มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่า ถ้าประเมินรวมทั้งหมดแล้วไม่เกิน 100 ล้านบาท ก็ไม่ต้องเสียภาษีนั่นเอง โดยอัตราการเสียภาษีมีดังนี้
  • ร้อยละ 5 จากส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ในกรณีได้รับมรดกจากบุพการี หรือผู้สืบสันดาน
  • ร้อยละ 10 จากส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ในกรณีได้รับมรดกกรณีอื่นๆ เช่น ผู้รับพินัยกรรม เป็นต้น
4

5. ต้องเสียภาษีมรดกเมื่อไร?

ผู้ได้รับมรดกต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีและชำระเงินภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับ มรดก ซึ่งผู้เสียภาษีจะต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี หากเป็นการผ่อนชำระ สามารถผ่อนชำระได้ภายใน 2 ปีโดยไม่เสียเงินเพิ่ม หรือผ่อนชำระเกิน 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี กรณีนี้ต้องเสียเงินเพิ่มด้วย

6. ใครบ้างที่ไม่ต้องเสียภาษีมรดก?

นอกจากกรณีที่มูลค่ามรดกที่ได้รับไม่เกิน 100 ล้านบาทแล้ว ยังมีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการยกเว้นภาษีมรดก ได้แก่
  • ผู้ที่ได้รับมรดกจากเจ้าของมรดก ที่เสียชีวิตก่อนวันบังคับใช้กฎหมาย
  • คู่สมรสของเจ้ามรดก
  • มรดกเพื่อใช้ในสาธารณประโยชน์
  • หน่วยงานของรัฐ
  • องค์กรระหว่างประเทศ
5

7. ถ้าไม่เสียภาษีมรดกจะเป็นอะไรไหม?

  • ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่ต้องเสียภาษีมรดก แต่สำหรับคนที่มีหน้าที่ต้อง เสียเงิน ภาษีในส่วนนี้แล้วละเลยไม่ทำตามละก็ บทลงโทษมีดังนี้
  • ไม่ยื่นแบบชำระภาษีโดยไม่มีเหตุอันสมควร ปรับไม่เกิน 500,000 บาท
  • ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานวางประเมิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ทำลาย ซ่อนเร้น หรือโอนทรัพย์สินที่ถูกยึด หรืออายัดไปให้แก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท
  • จงใจหลีกเลี่ยงภาษีการรับมรดก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีนี้รวมไปถึงผู้แนะนำ เจ้าพนักงาน หรือผู้ให้การสนับสนุนให้บุคคลอื่นกระทำการเช่นนั้นด้วย
6

8. ทำไมต้องเก็บภาษีมรดก?

สาเหตุที่ต้องมีการเรียกเก็บ ภาษีมรดก ก็เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยสร้างความเป็นธรรมในสังคมไทย ด้วยการช่วยกระจายภาษีรายได้เข้ารัฐ เพื่อนำภาษีไปพัฒนาประเทศต่อไปนั่นเอง
ที่มา https://www.askhanuman.co.th

 

Subscribe to our Newsletter

Contact our Support

อภิรัฐ ขาวสะอาด

โทร 081-4616665

Email apirathkh@gmail.com

Our Team Memebers